Blog

Trash Lucky นวัตกรรมขยะให้โชค ช่วยพลิกฟื้นสิ่งแวดล้อมให้โลกดีขึ้น

ขยะพลาสติก...เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมในระดับโลกมาเป็นเวลานาน แต่ละปีมีขยะพลาสติกถูกทิ้งลงทะเล 8 ล้านตัน นอกจากทำความสกปรกแล้วทำให้สัตว์มากมายต้องตายจากการกินพลาสติกไปโดยไม่รู้อีกด้วย จากปัญหาดังกล่าวได้มีคนไทยคิดค้นนวัตกรรมที่ช่วยพลิกสิ่งแวดล้อม และยังสร้างแรงจูงใจด้วยการลุ้นรางวัลอีกด้วย วันนี้เราจะพาไปพูดคุยกับ คุณณัฐภัค อติชาตการ ผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์ม Trash Lucky มาติดตามกันเลย..

เหตุผลที่ปัญหาขยะพลาสติกมีการรณรงค์มานานแล้ว แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

ผมคิดว่าเป็นเพราะเราไม่ได้แก้ปัญหาทั้งระบบแล้วก็ไม่ได้ทำกันอย่างจริงจัง เราคงต้องมีนโยบายที่ครบวงจรตั้งแต่การส่งเสริมให้มีการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลมากขึ้น มาตการทางภาษีเพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิตหันมาใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ กฎหมายการแยกหรือทิ้งขยะพร้อมทั้งปรับโครงสร้างพื้นฐานในการจับเก็บและลดการทิ้งขยะลงสู่หลุมฝังกลบ สุดท้ายควรส่งเสริมให้โรงงานรีไซเคิลเน้นการรีไซเคิลขยะในประเภทแทนที่จะนำเข้าขยะอีกด้วย

 คุณณัฐภัค อติชาตการ

นิยามของ Trash Lucky และระบบการจัดการแยกขยะ

Trach lucky เป็นแพลตฟอร์มให้คนไทยสามารถรีไซเคิลเองได้ ในขณะเดียวกันก็ได้ลุ้นรางวัลอีกด้วย เรารู้ว่าคนไทยมีนิสัยชอบลุ้น คนไทยกว่า 20 ล้านคน ซื้อลอตเตอรี่เป็นเงิน 2 แสน 5 หมื่นล้านบาทต่อปี เลยคิดว่าถ้าเอาชยะรีไซเคิลมาเปลี่ยนเป็นของรางวัลที่มีมูลค่าเยอะ อาจจะมองเห็นว่าขยะเหล่านี้มีมูลค่าขึ้นก็จะหันมารีไซเคิลกับ Trach lucky ซึ่งก็แค่แยกขยะรีไซเคิลแล้วบริจาค ก็จะได้รับสิทธิ์ลุ้นรางวัลตามประเภทขยะ ทั้งพลาสติก แก้ว กระดาษ โลหะ ได้ลุ้นทอง 1 สลึงทุกเดือน และรางวัล shopping voucher กว่า 20 รางวัล ซึ่งเป้าหมายของเราคือการสร้างแรงจุงใจให้คนไทยแยกขยะรีไซเคิล และลดการทิ้งขยะลงสู่ทะเลหรือฝังกลบนั่นเอง

แรงบันดาลใจที่จุดประกายให้เกิด Trash Lucky

ส่วนตัวผมเป็นคนที่ใช้กิจกรรมทางทะเลเยอะ ทั้งดำน้ำ โต้คลื่น แล้วก็ไปเจอขยะพลาสติก เราก็ต้องเก็บใส่กระเป๋าเอาออกมาทิ้ง ก็เลยคิดว่าทำยังไงไม่ให้ขยะพวกนี้ลงไปในทะเล ซึ่งพอมาคิดดูก็พบว่าที่คนทิ้งเพราะมันมีมูลค่าน้อย ก็เลยปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่าถ้าทำให้ของพวกนี้มีมูลค่าเยอะขึ้นก็น่าจะเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในประเทศได้ ซึ่งเราตั้งเป้าไว้ว่าในอนาคตอยากจะเพิ่มมูลค่าของรางวัลให้ถึงหลักล้าน ถ้าเป็นเศรษฐีเงินล้านได้เพียงแยกขยะรีไซเคิล เป็นผมก็คงอยากจะทำ

จุดเด่นของ Trash Lucky ที่แตกต่างจากการรณรงค์จัดการขยะอื่น

จุดเด่นก็คือ concept ที่เปลี่ยนขยะเป็นสิทธิ์ลุ้นรางวัล กับ 3 ขั้นตอนคือ “แยก แลก ลุ้น” ซึ่งเราได้ทุนจากทั้ง depa และ NIA กลับมาสร้างเทคโนโลยีที่ช่วยให้โครงการไปได้ไกลกว่านี้ ทุนจาก depa เราก็มาทำแพลตฟอร์มให้สมาชิกเช็คแต้ม เช็คประวัติการรีไซเคิลได้เอง และทาง NIA ก็ให้ทุนมาทำถังขยะรีไซเคิลอัจฉริยะสำหรับวางในสถานที่พักอาศัยและอื่น ๆ เพื่อรวบรวมขยะไว้ให้เราจัดการ สรุปแล้วทุนที่ได้มาทั้ง 2 ฝ่าย ก็ทำซอฟแวร์กับฮาร์ดแวร์ เพื่อสร้างความสะดวกให้กับสมาชิกนั่นเอง

ตอบโจทย์การแก้ปัญหาที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม

ถ้าเราสามารถสร้างแรงจูงใจให้คนแยกขยะแล้วนำมารีไซเคิล เราจะใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติอย่างคุ้มค่า ขยะพลาสติกเมื่อตกไปอยู่ในธรรมชาติแล้วย่อยสลายยาก แตกตัวกลายเป็นไมโครพลาสติก ซึ่งเป็นเม็ดเล็กๆ เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อาหาร เช่นในท้องปลาที่เรากิน หรือแม้แต่อากาศที่เราหายใจ ถ้าเราสามารถสร้างแรงจูงให้คนไทยไม่ทิ้งขยะ ก็จะไม่เกิดปัญหาไมโครพลาสติกในห่วงโซ่อาหาร ก็ทำให้ลดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งหากหมู่บ้าน คอนโด ชุมชน หรือโรงเรียนไหนสนใจเข้ารวมโครงการรีไซเคิลขยะ และจัดตั้งถังรีไซเคิลสามารถติดต่อ Trash Lucky ผ่านไลน์ @trashlucky

แม้ว่าการแยกขยะที่มีการรณรงค์มานาน แต่ก็ต้องชื่นชมกับ Trash Lucky ที่ได้คิดสร้างสรรค์ วิธีการแยกขยะที่แตกต่างจากโครงการอื่นๆ ที่ผ่านมา แค่ “แยก แลก ลุ้น” มีสิทธิ์ได้รางวัลมากมาย ช่วยลดขยะให้โลก นับเป็นนวัตกรรมที่ช่วยพลิกปัญหาเพื่อให้โลกและสิ่งแวดล้อมดีขึ้นอย่างยั่งยืน